ยินดีต้อนรับสู่...โลกของกฎหมายน่ารู้ กับ kruyam น.ส.เตชินี มุทุกันต์ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การตั้งชื่อ - ชื่อสกุล


การตั้งชื่อ ชื่อสกุล

การตั้งชื่อ – ชื่อสกุล
   “ชื่อตัว” และ “ชื่อสกุล” เป็นเครื่องกำหนดให้รู้ว่าบุคคลนั้นคือใคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และมีสถานะเป็นชายหรือหญิง เป็นผู้เยาว์หรือบรรลุนิติภาวะ เป็นโสดหรือมีคู่สมรสแล้ว เป็นต้น ชื่อบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่2 พ.ศ.2530) ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชื่อบุคคลไว้โดยเฉพาะ
ชื่อ คือ สิ่งที่แสดงให้ทราบว่าเป็นผู้ใด และปกติชื่อจะแสดงให้ทราบถึงเพศ ผู้เป็นเจ้าของชื่ออีกด้วย บุคคลหนึ่งอาจมีชื่อได้ 3 ชนิด กล่าวคือ
    1. ชื่อตัว หมายความว่า ชื่อประจำบุคคลแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นชื่อที่ตั้งมาตั้งแต่เกิด หรืออาจมาเปลี่ยนใหม่ภายหลังก็ได้
    2. ชื่อรอง หมายคามว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ตั้งขึ้นเพื่อให้ทราบแน่นอนว่าเป็นผู้ใด เพราบ่อยครั้งที่บุคคลมีชื่อตัวซ้ำกัน แต่คนไทยมักไม่นิยมตั้งชื่อรองกัน
    3. ชื่อสกุล หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล มีขึ้นเพื่อให้สามารถทราบอย่างชัดเจนว่าเป็นเชื้อสายหรือเครือญาติใคร บุคคลอาจมีชื่อตัวซ้ำกันได้ หากมีชื่อสกุลประกอบอยู่ด้วย ย่อมสามารถบ่งชี้ได้ว่าบุคคลที่มีชื่อตัวซ้ำกันนั้นหมายถึงใคร

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัวและชื่อรอง
1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
2. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
3. ผู้ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอน จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์เป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้
4. ชื่อหนึ่งให้มีคำรวมกันไม่เกิน 5 พยางค์ (เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3 พยางค์)
5. ต้องมีที่มาหรือความหมายที่ดี ซึ่งความหมายในที่นี้มิได้จำกัดเฉพาะที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึงพจนานุกรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป และเป็นชื่อที่ตรงตามเพศของเจ้าของ เช่น หากเป็นผู้ชายไม่ควรที่จะตั้งชื่อที่อ่านหรือฟังดูแล้วเข้าใจว่าเป็นเพศหญิง หากเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรที่จะตั้งชื่อที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นผู้ชาย

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุล
1. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี
2. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระราชทินนาม (เว้นแต่เป็นราชทินนามของตนหรือของบุพการีหรือผู้สืบสันดาน)
3. ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว
4. ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
5. ไม่มีคำหรือความหมายที่หยาบคาย
6. มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่เป็นการใช้พระราชทินนามเป็นชื่อสกุล ชื่อสกุลควรมีความหมายเหมาะสมตามหลักภาษาไทยด้วย

การใช้ชื่อสกุลของผู้หญิง
1. ผู้หญิงที่สมรสแล้วให้ใช้ชื่อสกุลของสามีหรือของตนเองได้
2. ผู้หญิงที่เป็นหม้ายโดยการหย่ากับสามี จะต้องกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเอง หรือใช้นามสกุลของสามีได้ หากได้รับการยินยอม
3. ผู้หญิงที่เป็นหม้ายโดยการที่สามีตาย จะยังคงชื่อสกุลของสามีหรือจะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเองก็ได้

การเปลี่ยนชื่อตัว
บุคคลที่ประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล จะต้องยืนคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็จะอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรองหรือจดทะเบียนชื่อสกุลใหม่ได้ แล้วออกหนังสือมอบให้เก็บไว้เป็นหลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือการจดชื่อทะเบียนใหม่ เพื่อใช้อ้างอิงหรือนำไปขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุลในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ สมุดคู่ฝากเงินธนาคาร เป็นต้น

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอเปลี่ยนหรือบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา (กรณีที่เปลี่ยนชื่อให้บุตร)
2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้ขอเปลี่ยนชื่อ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงการขอเปลี่ยนชื่อสกุลกรณีสมรส
1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง
2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3. ใบสำคัญการสมรส





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น